วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วิธีเล่นหุ้นแบบเก็งกำไร ตอนที่ 2/2


ทบทวนวิธีเล่นหุ้นแบบเก็งกำไรตอนที่แล้วนะคะ
  1. จุดคัทลอสสำคัญที่สุด
  2. ดูวันหมดอายุของ Warrant
  3. ศึกษานิสัยของหุ้นเก็งกำไร
==> อ่านทบทวนได้ที่ วิธีเล่นหุ้นแบบเก็งกำไร ตอนที่ 1/2

บทความนี้เป็นประสบการณ์เพียงส่วนหนึ่งของเราและคำแนะนำจากรุ่นพี่เพื่อใช้ในการเก็งกำไร ซึ่งเราอยากจะถ่ายทอดให้นักลงทุนที่เล่นแนวเก็งกำไรนั้นระมัดระวังในการเล่นมากขึ้นกว่านี้ เราควรศึกษาเพื่อจะได้รู้เท่าทันวิธีการเก็งกำไรจะได้ไม่เจ็บตัวฟรี เพราะตลาดหุ้นนั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา วิธีการที่เคยแนะนำต่อไปนี้อาจจะใช้ไม่ได้ผลในอนาคต หรือวิธีการเก็งกำไรในอดีตอาจจะกลับมาอีกครั้ง ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร มีแต่ตัวเราเท่านั้นที่ควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อง่ายๆ

วิธีเล่นหุ้นแบบเก็งกำไร ตอนที่ 2/2

==> Volume

การดูโวลุ่มซื้อขายนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ
  1. หุ้นที่มี Vol.สูงจนกระทั่งติดเกณฑ์ Cash Balance(การซื้อด้วยเงินสดเท่านั้น) ส่วนใหญ่แล้วเราจะเรียกว่า "หุ้นติดคุก" นั้นแหละ  ซึ่งการติดแคชแต่ละครั้งจะใช้เวลา 6 สัปดาห์ เป็นที่รู้กันว่าหุ้นตัวไหนที่จะติดแคชราคาจะปรับตัวลงแรง แล้วซึมๆอยู่สักพัก บางครั้งอาจจะมีการเล่นราคากันบ้างในขณะที่ติดแคช หุ้นที่ติดแคชนั้นจะดึงราคาขึ้นง่ายเพราะแต่ละช่อง Vol. Bid ค่อนข้างน้อย ทางโบรกจะมีการประกาศออกมาว่าแต่ละสัปดาห์จะมีหุ้นตัวไหนบ้างที่มีแนวโน้มที่จะติดแคช สำหรับท่านนักลงทุนที่มีเงินหมุนเวียนน้อยนั้นอาจจะไม่คุ้มที่จะติดหุ้นที่ติดแคช
    • ถ้าเราต้องการดูในระบบว่ามีหุ้นตัวไหนที่ติดแคชถึงวันที่เท่าไหร่ดูได้ที่ Streaming Pro ในช่องของ Settings ==> Turnover List 
  2. หุ้น Sideway ที่เคยจำศีลมานาน อยู่ดีๆก็วิ่งขึ้นมาซะงั้น ถ้าจะพูดง่ายๆคือ โวลุ่มเข้านั่นแหละ ถ้าเป็นแนวเก็งกำไรที่นั่งดูหน้าจอตลอดเวลานั้นก็สามารถกระโดดเข้าได้ แต่ต้องเป็นหุ้นที่พึ่งขึ้นวันแรกๆเท่านั้นเพราะถ้าขึ้นไปแล้ว 3-4 วันก็ไม่น่าสนใจแล้วหละ 
    • โปรแกรมหนึ่งที่เราชอบดูหุ้นเก็งกำไร คือ eFinanceThai โดยเข้าไปในช่องของ Template ==> [F6]-@CompareAvgVol5 ก็จะปรากฏภาพข้างล่างนี้
ตัวอย่างหุ้นเก็งกำไร JUTHA ณ วันที่ 25 ก.พ.57


ตารางข้างบนจะเป็นอันดับหุ้น 30 อันดับที่มีโวลุ่มเข้าในรอบ 5 วันที่ผ่านมา เทคนิคบางคนที่เล่นเร็วจะเข้าหุ้นที่มีการขึ้นรวดเร็วจากอันดับล่างๆขึ้นมาอันดับต้นๆอย่างรวดเร็ว อย่าลืมว่าเล่นไม่กี่ช่องควรขายออกเพราะเวลาทิ้งนั้นโหดมากมาย ส่วนตัวจะดูที่ช่องข้างล่างที่เป็น Spread Price Analysis โดยช่องแรกเราตั้งให้เป็น 4  Spread เพื่อดูว่าถ้าหุ้นตัวไหนที่กินรวบที 4 ช่องนั้นกำลังถูกเก็งกำไร ซึ่งเราจะเห็นหุ้น Asimar กับ Jutha อยู่ในช่องนี้เราก็ลองมาเปิดดูที่ช่อง Bid Offer ก็จะเป็นแบบนี้ซึ่งจะมีการไล่ราคากันอย่างเร็วมาภายในเวลาไม่กี่นาที



กราฟของ JUTHA ณ วันที่ 25 ก.พ. 57


==> กลุ่มเดียวกันจะมาพร้อมกัน

ถ้าเราตามหุ้นมาสักระยะก็จะรู้ว่าหุ้นแบบไหนจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ประมาณว่าพอตัวนี้ขึ้นไปแล้วก็จะมีอีกตัวหนึ่งตามมา ถ้าเราไม่อยากเหนื่อยวิ่งไล่ราคาหุ้นที่ขึ้นไปแล้ว ก็หันมามองหุ้นตัวที่ขึ้นช้ากว่าเพื่อนน่าจะเล่นได้หลายช่องมากกว่า ซึ่งเราควรจับกลุ่มหุ้นไว้เพื่อสังเกตราคาในแต่ละครั้งว่ามีลักษณะการเล่นอย่างไร ขึ้นวันเดียวจบเกมส์หรือราคาขึ้นมาสักพักก็พักเหนื่อยแล้วขึ้นต่อ เพื่อกำหนดกลยุทธ์การเล่นหุ้นเก็งกำไรว่าควรเข้าหรือออกช่วงไหน ไม่มีใครเทพมากที่เข้าออกได้ถูกจังหวะทุกครั้ง เพราะช่วงที่หุ้นขึ้นก็จะถูกความโลภเข้าบังตา 

จากตัวอย่างข้างบนที่เราเห็นราคา JUTHA ขึ้นไปเยอะมาก เราสังเกตหุ้นมาสักระยะก็จะรู้ว่าหุ้นที่ชอบขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกันกับ JUTHA ก็จะมี RCL  ASIMAR จึงหันไปมอง 2 ตัวหลังน่าจะดีกว่า กราฟข้างล่างเป็นการเปรียบเทียบหุ้น 3 ตัวที่ชอบมาพร้อมๆกัน ซึ่งช่องแรกจะเป็นกราฟของ JUTHA ช่องที่สองจะเป็น RCL และช่องสุดท้ายขวาสุดจะเป็นหุ้น ASIMAR ซึ่งรูปแบบกราฟจะคล้ายๆกัน คือ ขึ้นด้วย Vol.ที่สูงมาก


จากที่เราเคยสังเกตก็จะจับได้นิดหน่อยว่าหุ้นอะไรบ้างที่ชอบมาพร้อมกัน คือ UMI มาพร้อมกับ RCI และ JUTHA มาพร้อมกับ RCL ,ASIMAR แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ควรยึดติดว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อว่าหุ้นกลุ่มนี้จะมาพร้อมกันตลอดไปหรือหุ้นแบบนี้จะมีลักษณะการขึ้นลงแบบนี้ตลอดไป ดังนั้นเราควรติดตามพฤติกรรมหุ้นเพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตลอดเวลา เพราะเราเคยยึดติดกับ DW บางตัวที่ซีรีย์เดิมเล่นดีมากเหวี่ยงขึ้นลงได้ใจสุดๆ แต่พอมาซีรีย์ใหม่ก็เล่นไม่เหมือนเดิมกว่าจะขึ้นได้แทบหลับคาจอเทรด

==> หุ้นที่จะเพิ่มทุน

ลักษณะนิสัยของหุ้นแบบนี้จะมีการปรับตัวขึ้นก่อนที่จะประกาศเพิ่มทุน พอถึงวันประกาศเพิ่มทุนเท่านั้นแหละปรับตัวลงทันตาเห็น (เลือดสาดกันเลย) ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยทราบข่าวเรื่องแบบนี้ทำให้ติดหุ้นในช่วงข่าวก่อนประกาศเพิ่มทุน เพราะเห็นว่าหุ้นขึ้นดีก็ขอซื้อติดพอร์ตไว้หน่อย สำหรับบางคนที่สามารถทนติดหุ้นระยะเวลา 6 เดือนได้ก็อาจจะใจเย็นรอหน่อย เพราะหุ้นที่เพิ่มทุนไปแล้วนั้นจะกลับมาเล่นราคากันอีกครั้งในช่วง 3-6 เดือนต่อมา

ถ้าเราไม่อยากต้องมานั่งเฝ้าระวังว่าหุ้นตัวไหนกำลังจะเพิ่มทุนบ้างก็มาดูตัวที่เพิ่มทุนไปแล้วว่ามีหุ้นอะไรบ้าง เพิ่มทุนไปแล้วกี่เดือน ราคาน่าจะทะยอยซื้อเก็บได้รึยัง หรือถ้าใครมีหุ้นเพิ่มทุนอยู่ในมืออยู่แล้วและกำลังหาจังหวะขายนั้น ช่วงเวลาขายที่ดีที่สุดควรเป็นวันที่หุ้นขึ้นแรง โวลุ่มเข้ามากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยทะยอยขายทำกำไรตามกลยุทธ์ที่วางไว้ เช่น ขึ้น 10%-20% ก็ขายหุ้นจำนวน 50% ขอพอร์ต ถ้าขึ้นมากกว่านั้นก็ขายทิ้งทำกำไรทั้งหมด อย่าคิดว่า "ขอกำไรอีกนิดนะ" เพราะสุดท้ายหุ้นก็จะตกแรงทุกที กล้าขายหมูดีกว่าไม่มีหมูให้ขาย    

==> หุ้นที่ขึ้น นสพ. หน้า 1**

เราจำหุ้นตัวนี้ได้ติดตา TSF ดูกราฟกันก่อนว่าเป็นยังไง


ช่วงที่เราเห็น Sideway ราคาประมาณ 0.30 นั้นเป็นช่วง Q3 ของปี 2012 แล้วราคาก็ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งถึงราคา 3.41 ณ วันที่ 15 ม.ค. 13 แล้วก็ปรับตัวลงเรื่อยๆ เราไม่รู้ว่าสาเหตุของการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้มันเป็นไปได้ยังไง แต่เราบอกทุกคนที่เข้าหุ้นแบบนี้ว่า ถ้ามีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หุ้นหน้า 1 เมื่อไหร่ให้ขายทิ้งทันที เพราะข่าวส่วนใหญ่ที่ปล่อยออกมานั้นเพื่อปล่อยของ เรามองทางด้านจิตวิทยาว่าถ้าจะให้คนมาซื้อก็ต้องทำตัวให้เป็นข่าว ยิ่งข่าวดังเท่าไหร่คนยิ่งมั่นใจและซื้อตาม คนที่มีของอยากขายสามารถขายได้ทุกราคา แม้ว่าราคานั้นอาจจะไม่ใช่ราคาสูงสุดก็ตาม ประเด็นอยู่ที่ขายให้หมดก็พอ

จำได้ว่าเมื่อมีคนเคาะซื้อหุ้นตัวนี้เราก็โทรไปถามว่าซื้อหุ้นตัวนี้เพราะอะไร ซึ่งบังเอิญเพื่อนคนนี้ได้ข่าวมาว่าจะมีโน้นนี่นั้นเลยซื้อเก็บไว้ เราก็ตอบกลับไปว่า "สัญญานะว่าถ้ามีข่าวเกี่ยวกับหุ้นตัวนี้เมื่อไหร่ให้ขายทิ้งเท่านั้น" แล้วอีกไม่นานก็มีข่าวดีของหุ้น TSF เกิดขึ้นหน้า 1  นสพ. เราก็รีบบอกว่าข่าวมาแล้วคงได้เวลาขายแล้วหละ โชคดีที่เพื่อนยังรับฟังเราบ้าง ไม่งั้นแล้วตอนนี้คงนอนหนาวบนดอยไปอีกนาน

**วิธีการนี้เราจะใช้ก็ต่อเมื่อหุ้นตัวนั้นไม่เคยเล่นราคามาก่อน ขึ้นอย่างเดียวโดยไม่รู้ว่าจะขึ้นเพราะอะไรและขึ้นไปถึงจุดไหน


"การมีความโลภนั้นไม่ผิด แต่จะผิดที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้" 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น