วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ออมเงินไปเพื่ออะไร

วันนี้คุยกับน้องที่ทำงานเรื่องเงินเก็บก็เลยเกิดเป็นหัวข้อ "ออมเงินไปเพื่ออะไร" ขึ้นมา

รุ่นน้องคนนี้ทำงานเก่ง รายได้ต่อเดือนก็น่าจะสูงกว่าคนในรุ่นเดียวกัน แต่ทำไมถึงไม่มีเงินเก็บ!!

ที่เคยบอกไปแล้วว่า "ถึงแม้คุณสามารถหารายได้เยอะมาก แต่ไม่สามารถเก็บเงินได้มันก็เท่านั้น"

ประเด็นมันอยู่ที่การที่เราซื้อของเกินความจำเป็น

อะไรบ้างหละที่เรียกว่าเกินความจำเป็น??  ยกตัวอย่างเช่น

  • รองเท้าส้นสูง 6 คู่ ซึ่งใส่ได้ครั้งละคู่และบางคู่ก็เก่าเก็บ เหตุที่ซื้อเพราะป้าย Sale
  • กระเป๋าที่ใช้ 7 วันยังไม่ซ้ำกันเลย (จะเยอะไปไหม)  
  • เสื้อผ้าที่ใส่ทั้งเดือนก็ยังไ่ม่หมดหรือบางตัวก็มานั่งนึกว่าซื้อมาตอนไหน
  • มือถือ 3 เครื่องที่ดังพร้อมกันก็ไม่รู้จะรับสายไหนก่อนดี เพราะสำคัญทุกสาย


บางคนก็คิดว่าเป็นความสุขส่วนตัว แต่ถ้าความสุขนั้นเราใ้ช้เกินฐานะของเราก็ลำบากนะค่ะ

แล้วยิ่งมีผลต่อเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณก็ไม่สนุกยามชราเหมือนกัน

สำหรับคนทำงานบริษัทเมื่อทำงานจนเกษียณก็มีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  ประกันสังคม

ถ้าเป็นข้าราชการก็จะมีบำเหน็จหรือบำนาญไว้ใช้ใช้หลังเกษียณ ซึ่งคุณคิดว่าน่าจะพอใช้

แต่จริงๆแล้ว เงินจำนวนนั้นไม่เพียงพอในการดำรงชีพหลังเกษียณแน่นอนค่ะ ฟันธง!!

อย่าคิดว่าพอเราแก่ตัวไปแล้วลูกหลานเค้าจะมาตั้งใจเลี้ยงเรานะค่ะ ยากมากมายค่ะ

เพราะลำพังตัวลูกหลานเองยังเอาตัวไม่รอดเลย แล้วจะนำรายรับที่ไหนมาดูแลเรา

คิดง่ายๆเลยว่าสมัยก่อนพ่อแม่มีลูกทีละ 6-10 คน พอเวลาโตมาก็สามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ได้

อย่างน้อยก็อาจจะให้เงินพ่อกับแม่เฉลี่ยคนละ 2,000 ต่อเดือน

ถ้ามีลูก 10 คนก็จะได้เงินเดือนละ 20,000 บาท

แต่ปัจจุบันมีลูกคนเดียวก็เหนื่อยไส้แตกกันแล้วเพราะค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูสูงมาก

ดังนั้นแนวโน้มในอนาคตก็จะเป็นครอบครัวขนาดเล็กมากขึ้น ลูกคนเดียวดูแลพ่อแม่

เมื่อดูจากค่าครองชีพในตอนนี้แล้วบางคนก็อาจจะต้องทำงานและขอเงินพ่อแม่ใช้อยู่บ้าง

แล้วถ้าสภานการณ์นั้นเกิดกับครอบครัวเรา และถ้าเราไม่มีเงินเก็บไว้เลยสภาพจะเป็นอย่างไร

ดังนั้นเราเริ่มต้นออมเงินตั้งแต่วันนี้กันเถอะค่ะ ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่จำนวนเงินเก็บในแต่ละเดือน

ก็จะน้อยลงเท่านั้น  ขอยกตัวอย่างให้เป็นเลขกลมๆจะได้เข้าใจได้ง่ายๆ เช่น

เราต้องการเงิน 6 ล้านเมื่ออายุ 60 ปี เริ่มเก็บเงินตอนอายุ 30 ปี เฉลี่ยเก็บปีละ 200,000 บาท

แต่ถ้าเราเก็บตั้งแต่อายุ 20 ปีก็จะเก็บปีละ 150,000 บาท

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

ถ้าใช้การคำนวณมูลค่าเงินตามเวลา ( TVM) ดีดลูกคิดแล้วก็จะไ้ด้ตัวเลขที่แท้จริงมากกว่านี้

เช่น FV = 6,000,000  ; N = 30 ; I/Y = 3.5%  CPT  PMT = 116,227.9896

หมายความว่า ถ้าเราต้องการเงินในอีก 30 ปีข้างหน้าเป็นจำนวน 6 ล้านบาท โดยได้รับดอกเบี้ย

3.5% (อาจจะใช้ตัวเลขเงินเฟ้อก็ได้) จะทำให้เราเก็บเงินปีละ 116,227.9896 บาทต่อปี

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

อันที่จริงแล้วการเก็บเงินเพื่อเกษียณมีรายละเอียดอีกมาก แต่จะใส่ทีเดียวเกรงว่าจะตกใจ

ก็เลยต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเราควรมีเงินออมไปเพื่ออะไร

อย่าคิดว่าหลังเกษียณก็คงไม่ได้ใช้เงินอะไร เพราะคงอยู่บ้าน ปลูกต้นไม้ ฯลฯ

มันมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากอยู่อย่างหนึ่งที่คุณลืมนึกถึง นั่นคือ "ค่ารักษาพยาบาล"

เมื่อร่างกายใช้งานมาทั้งชีวิตก็ต้องซ่อมแซมกันบ้าง ยิ่งมีโรคประจำตัวยิ่งต้องใช้เงินมาก

พอหลังเกษียณบางท่านทำงานได้บ้าง หรือมีบำนาญก็ยังดีที่มีรายรับ

แต่ถ้าบางท่านหลังเกษียณทำงานไม่ได้แล้ว คราวนี้แหละมีแต่รายจ่ายล้วนๆ เหนื่อยกันเลย

นี่แหละค่ะ ประโยชน์ของการออมเงิน



วิธีปลูกต้นไม้การลงทุนตั้งแต่เด็กทำอย่างไร
http://pajareep.blogspot.com/2012/08/blog-post.html



"ถ้าอยากจะมีชีวิตเป็นสุขหลังเกษียณ เรามาออมเงินกันตั้งแต่วันนี้นะค่ะ" 




+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +

ต้องเร่งรับมือสังคมวัยชรา


ต้องคิดและวางนโยบายกันให้มากแล้วว่าประเทศไทยจะฝ่าวิกฤติคนชราไปได้อย่างไร 
เพราะตัวเลขสิ้นปี 2553
สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ระดับ 11.9% ซึ่งเมื่ออัตราเกินระดับ 10% ก็ถือว่าเข้าข่ายสังคมผู้สูงอายุตามหลักสากลไปเรียบร้อยแล้ว แต่ที่น่าวิตกมากกว่านั้น ยังมีการประเมินว่าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ในปี 2573 สัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากร จะขยับเป็น 25.1% ถือว่าเป็นอัตราที่น่าวิตกยิ่ง เพราะนั่นเท่ากับว่าเด็กจะหายไปจากโรงเรียน แรงงานจะหายไปจากอุตสาหกรรมและภาคบริการ หน่วยงานของรัฐจะไม่มีข้าราชการมากพอกับหน้าที่บริการประชาชน กำลังซื้อในประเทศก็หดหายไป และที่น่าห่วงตามมาอีก คือ แรงงานหนึ่งคนต้องรับภาระดูแลคนแก่มากขึ้น ที่น่าวิตกอย่างมากอีกเรื่อง คือ ภาระการคลัง ที่จะเป็นปัญหาในอนาคต

  ทั้งนี้ ในปี 2506-2526 มีอัตราการเกิด 40% ต่อประชากรพันคน มีเด็กเกิดปีละ 1 ล้านคน หรือที่เรียกว่า "รุ่นเกินล้าน" และมีอัตราเพิ่มขึ้นของประชากรปีละ 3% แต่หลังจากที่มีการคุมกำเนิดมากขึ้น ประชากรแต่งงานช้า ทำให้ปี 2540 อัตราการเกิดของประชากร เหลือ 20% ต่อประชากรพันคน และเหลือ 12% ต่อประชากรพันคนเมื่อปี 2553 นั้นเท่ากับว่าอัตราเพิ่มของประชากรลดลงเหลือปีละ 0.5% เท่านั้น และยังประเมินกันต่อไปว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าอัตราเพิ่มจะเหลือ 0% หรือโอกาสติดลบอย่างแน่นอนซึ่งเท่ากับว่ากำลังแรงงานในระบบจะหายไปอย่างมากประเทศไทยจะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ เท่ากับว่าปัญหาจะตามมาอีกมากมายขณะที่แรงงานใหม่อย่างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีก็มีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 20.5% ในปี 2553 จะเหลือ 13.5% ในปี 2573 รวมไปถึงวัยแรงงาน 30 ปีและเกิน 40 ปีก็ปรับลดลงเช่นกันซึ่งเท่ากับว่าอัตราผู้ใช้แรงงาน 7 ดูแลคนแก่ 1 คนจะลดลงเหลือ 5 ต่อ 1 เมื่อปี 2554 และคาดว่าจะเหลือ 2 ต่อ 1 ในปี 2573 หรืออีกประมาณอีก 18 ปีข้างหน้า
  จากโครงสร้างประชากรไทยและการคาดการณ์ข้างหน้าจึงถือเป็นพันธกิจเร่งด่วนที่ต้องเริ่มวางแผนรับมือตั้งแต่วันนี้เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคมไทย เริ่มจากวางแผนวัยแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ เพราะจากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยพบว่าโครงสร้างอายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมเป็นแรงงานวัยหนุ่มสาวแต่ในระยะหลัง อายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็เริ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะของประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างประเทศไทยที่สัดส่วนประชากรวัยเด็กลดลงในขณะที่สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลให้โครงสร้างอายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะเป็นแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจากข้อมูลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนของแรงงานผู้เยาว์ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 55% ในปี 2534 เป็น 20.7% ในปี 2553 ในขณะที่แรงงานผู้สูงอายุ เพิ่มจากประมาณ 12% เป็นประมาณ 20% หรือเกือบเท่าตัวซึ่งนั้นเท่ากับว่าแรงงานสูงอายุที่เพิ่มขึ้น จะมีผลทางลบต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานโดยเฉลี่ย
  จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลเมื่อทราบสถิติชัดเจนว่าอัตราเด็กเกิดใหม่ มีสัดส่วนที่ลดลงก็ต้องกลับมาบริหารจัดการเด็กจบใหม่ ให้เกิดประสิทธิภาพมากสุด ทั้งเรื่องคุณภาพศึกษาและอัตราแรงงานที่ควรจะเป็นในอนาคต นั่นหมายความว่า ในแต่ละปีรัฐบาลต้องประกาศออกมาให้ได้ว่าอีก 4 ปีข้างหน้ามีอุตสาหกรรมภาคบริการหรือธุรกิจไหนบ้าง ที่ต้องการแรงงานอัตราเท่าไร เพื่อที่จะจัดสรรให้ตรงจุดและเหมาะสม แทนที่จะให้กระจุกหรือขาดแรงงานอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
 ซึ่งนั่นต้องมาดูว่าระบบการคัดเลือกเด็กเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน ขณะที่ภาคการคลัง ต้องวางแผนระบบการเงินของประเทศครั้งใหญ่ว่าระบบออมเงินแบบไหนบ้างที่จะเข้ามาดูแลประชากรในวัยชรา  โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ประเมินกันว่ามีสูงถึง 63% ซึ่งไม่อยู่ในความดูแลของรัฐบาลหรือกองทุนต่างๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการเหลียวแล และวางแผนรับมือตั้งแต่วันนี้ประเทศจะเผชิญจะก่อวิกฤติในอนาคตได้




ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม เรื่อง ต้องเร่งรับมือสังคมวัยชรา
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2555




วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ควรมีหนี้เท่าไหร่

                 จากสภาพแวดล้อมรอบๆตัวในปัจจุบันค่อนข้างมีแรงดึงดูดให้เราก่อหนี้ได้มากมาย

ทั้งที่จำเป็นและไม่จะเป็น แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าศักยภาพในการหารายได้ของเรานั้น

สามารถก่อหนี้ได้เท่าไหร่ และไม่เหน็ดเหนื่อยจนเกินไปที่จะชำระหนี้ดังกล่าว

ภาระหนี้สินจะแบ่งเป็นหนี้ระยะสั้นและหนี้ระยะกลางถึงยาว ซึ่งหนี้สินระยะสั้นก็เป็นประเภทบัตรเครดิต

ผ่อนสินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ ส่วนหนี้ระยะกลางถึงยาวนั้นก็จะเป็นการผ่อนรถยนต์ และบ้าน

สมมติว่าคุณมีรายได้เดือนละ 100,000 บาท 

  • ความสามารถผ่อนหนี้ระยะสั้นได้ไม่เกิน 20%ซึ่งก็คือ 20,000 บาทต่อเดือน
  • ความสามารถในการชำระหนี้ระยะกลางถึงยาวได้ไม่เกิน 25% ซึ่งก็คือ 25,000 บาทต่อเดือน

เมื่อรวมกันแล้วควรมีภาระเงินผ่อนได้ไม่เกิน 45% ของรายได้หรือ 45,000 บาทต่อเดือนค่ะ

ถ้ามีภาระหนี้ที่มากกว่านี้จะเกิดการขาดสภาพคล่อง(เงินสดขาดมือ)ในระยะยาวได้นะค่ะ

แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะ้ต้องก่อหนี้เพิ่มมากขึ้นควรจัดลำดับความสำคัญของเงินที่จะต้องนำไปใช้

โดยแบ่งความสำคัญจากความจำเป็นของครอบครัว ถ้าขาดสิ่งนี้ไปจะทำให้ครอบครัวลำบาก

และมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เช่น เราต้องการเงินมาซ่อมบ้าน ซ่อมรถ ซื้อไอโฟน 

ซื้อไอแพด ท่องเที่ยว ฯลฯ ถ้าจัดลำดับความสำคัญก็จะต้องนำเงินมาซ่อมบ้านและรถยนต์ 

เพราะเป็นสิ่งจำเป็นของครอบครัว ถ้าไม่ซ่อมบ้านเราก็อาจจะไม่มีบ้านอยู่กันเลยทีเดียว

ส่วนลำดับอื่นๆก็ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของเรา ถ้าเหลือก็สามารถนำมาจัดสรรได้ค่ะ


           เมื่อวันก่อนไปงาน Money Expo Bangkok 2012 จัดที่เมืองทองธานี ระหว่างนั่งรอเพื่อน

ตรงหน้าเวทีที่กำลังจัดกิจกรรมเล่นเกมส์หาคนที่มีบัตรเครดิตเยอะที่สุด ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดอะไร

แต่พอมีคนควักบัตรออกมาว่าฉันมี 10 ใบ เราก็เริ่มคิดละว่าเยอะจังเนอะ เหมือนจะกินกันไม่ลง

ก็มีคนเดินมาแล้วโชว์ว่ามี 14 ใบ เราก็เฮ้ย...มีเยอะแล้วใช้หมดไหมเนี้ย สุดท้ายจบด้วยที่ 16 ใบ!!



บทความน่าสนใจ

รู้อะไรไม่สู้ "รู้งี้" กับการวางแผนเกษียณ
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/06/blog-post.html

บทเรียนในความมืดกับการวางแผนการเงิน
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/02/blog-post_24.html

คนล้มละลาย เศรษฐกิจก็ล้มละลาย
==> http://pajareep.blogspot.com/2012/10/blog-post.html











วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หารอยรั่วของเงินจากการจดบันทึก



คุณเคยอยากรู้บ้างไหมค่ะว่าเงินของเรามันไปเดินเล่นที่ไหนบ้าง 

หรือรู้สึกว่่าทำไมเพิ่งได้เงินมาแล้วมันถึงหมดไปเร็วจัง @_@!!

จากนั้นก็มองไปรอบๆตัวดูเหมือนว่าเรายังไม่ได้จ่ายอะไรนะ แต่ทำไมเงินมันหายไป

ต้องมีขโมยแน่ๆเลย ..... แล้วอะไรหละที่มาขโมยเงินของเราไปนะ อยากรู้จังเลย??

เรามาร่วมกันออกตามหาแหล่งใช้ไปของเงินกันเถอะค่ะ 

วิธีการที่ทำได้ง่ายๆ ได้ยินมาก็เยอะ แต่ไม่ค่อยทำกันสักเท่าไหร่ เพราะแพ้ความขี้เกียจ เหอะๆ

แค่เราจดบันทึกรายรับ รายจ่ายทุกวันก็เท่านั้นเองค่ะ 

บางคนเคยทำแล้วหละ แรกๆก็จด หลังๆก็ลืม จนต่อมากลายเป็นขี้เกียจ (เคยเป็นเหมือนกัน)

เราต้องทำจนเป็นนิสัยจนเกิดความเคยชิน เหมือนกับเราหิวแล้วต้องกินข้าวหนะค่ะ

ถ้าเราต้องการสร้างความมั่งคั่งในอนาคตเราก็ต้องเริ่มต้นจากการอุดรอยรั่วใกล้ตัวก่อน

ซึ่งบางคนคิดว่าไม่สำคัญ เพราะคิดว่าเรารู้แล้วว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ 

เอาไปลงทุนซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อให้เงินงอกเลยเท่าไหร่ 

ซื้อของใช้ของกินเท่าไหร่คร่าวๆก็พอแล้ว ไม่เห็นจะต้องมาลงรายละเอียดเลยว่าใช้อะไรไปบ้าง

เรามาดูกันค่ะว่าการจดบันทึกมันให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด

มาดูตัวอย่างการจดบันทึกกันนะค่ะ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------


รายจ่ายประจำเดือน......
รายได้
  เงินเดือน
  รายได้จากการออมและการลงทุน
รวมรายได้

รายจ่าย
  เงินออม
  เงินลงทุน(LTF,RMF,...)

 รายจ่ายคงที่
  ค่าเบี้ยประกันชีวิต
  ค่าผ่อนรถ
  ค่าผ่อนบ้าน

รายจ่ายผันแปร
  ค่าอาหารและเครื่องใช้ในบ้าน
  ค่าสาธารณูปโภค
  ค่าโทรศัพท์
  ค่าเดินทาง
  ค่าการศึกษาบุตร
  ค่าใช้จ่ายบุตรอื่นๆ
  ค่าเสื้อผ้า เครื่องประดับ
  ค่าใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อน
  ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
รวมรายจ่าย

กระแสเงินสดสุทธิ (รายได้-รายจ่าย)


----------------------------------------------------------------------------------------------------------

เราเรียกตารางนี้ทางวิชาการว่า "งบกระแสเงินสด" แต่ปาจะเรียกว่างบรายรับ รายจ่ายละกันนะค่ะ

มันค่อนข้างตรงตัว และเข้าใจง่ายดีค่ะ เราก็พอมองออกแล้วว่าก็จะประกอบด้วยรายรับและรายจ่าย

ซึ่งรายรับก็เขียนให้หมดเลยค่ะว่าเรามีแหล่งรายได้มาจากแห่งหนตำบลใดบ้าง 

แล้วก็บันทึกรายจ่าย ซึ่งจะเห็นว่าจะเป็นเงินออมขึ้นต้นเลย บางคนงงว่าเงินออมเป็นรายจ่ายได้ไง

ก็เราออมไว้ใช้นะไม่ใช้รายจ่าย นี่แหละค่ะเป็นที่มาของ "ออมก่อนใช้" ให้เราคิดซะว่าเป็นรายจ่าย

ชนิดนึ่งหนะค่ะ พอเงินเข้ากระเป๋าเราต้องเอาเงินไปออมสักที่นึง เช่น ฝากประจำกับธนาคาร

ซื้อกองทุนแบบเฉลี่ยซื้อทุกเดือน ฯลฯ ชนิดไม่ต้องเห็นเงินกันเลย เราจะได้ไม่เสียดายแล้วเผลอไปใช้

ถ้าถามว่าต้องออมเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ไม่ควรต่ำว่า 10% ของรายได้ในแต่ละเดือน

จากนั้นเราค่อยใช้ส่วนที่เหลือ นอกจากรายจ่ายเรื่องการออมแล้วก็จะมีการแบ่งรายจ่ายเป็น 2 ชนิด 

คือ รายจ่ายคงที่ และรายจ่ายผันแปร เรียกซะยากเชียว แล้วเราจะแบ่งกันยังไงหละมีรายจ่ายตั้งเยอะ

สำหรับรายจ่ายคงที่ก็ให้เรานึกถึงว่าเงินที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ เช่น เบี้ยประกันชีวิต

เงินผ่อนบ้าน เงินผ่อนรถ ส่วนรายจ่ายผันแปร คือ รายจ่ายที่เราสามารถควบคุมได้นั่นเองค่ะ

ควบคุมในที่นี้คือ เราสามารถลดหรือเพิ่มได้ตลอดเวลาตามความจำเป็น

บรรทัดที่สำคัญที่สุดสำหรับงบนี้คือ กระแสเงินสดสุทธิ ถ้าออกมาเป็นบวกแสดงว่าเรามีรายได้

มากกว่ารายจ่าย แน่หละถ้าเป็นลบแสดงว่าเดือนนั้นเราช๊อตแล้วหละ 

การแบ่งแยกรายจ่ายอย่างชัดเจนนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะเราจะได้รู้ว่าเราเสียเงินไปกับอะไร

มากที่สุดในแต่ละเดือน เช่น

  •  ค่าโทรศัพท์จ่าย 1-2 พันต่อเดือน เราน่าจะหาวิธีโทรแบบถูกๆได้ง่ายๆในยุค 3G  อย่างการโทรทางเน็ตก็ได้เมาท์กันมันส์สนั่นเมืองและไม่เปลืองเงินค่าโทรอีกต่างหาก 
  • ค่าเสื้อผ้า เครื่องประดับ อันนี้ค่อนข้างลดลำบากสำหรับขาช้อป แต่ก่อนซื้อก็ต้องคิดว่าสิ่งต่างๆที่เราซื้อไปเมื่อเจอป้าย sales ครั้งสุดท้ายเราใส่ครบแล้วรึยัง เพื่อเป็นการป้องกันเงินในกระเป๋าเราก็น่าใช้วิธีการตั้งงบไว้ว่าใช้ได้เดือนละเท่าไหร่ ถ้าเดือนไหนซื้อครบแล้วก็ไม่ต้องซื้ออีก แต่เดือนไหนซื้อไม่ึถึงงบที่ตั้งไว้ก็ไม่ต้องตั้งใจซื้อให้ครบก็ได้ค่ะ เอาไว้เป็นเงินออม หรือเงินบริจาคก็ได้
  • ค่าใช้จ่ายบุตรอื่นๆ ซึ่งแล้วแต่อายุของบุตรด้วย ของบางอย่างก็ต้องใช้ให้เหมาะกับวัยและความจำเป็น ไม่ใช่ว่าเห็นเพื่อนมีอะไรแล้วก็ต้องมีเหมือนกัน  ทั้งนี้ต้องอธิบายให้บุตรเข้าใจด้วยว่าควรมีหรือไม่มีไว้ใช้ และเพราะอะไรถ้าไม่ได้ใช้เหมือนเพื่อน
  • ภาษีเงินได้บุคคล การประหยัดภาษีจากการใช้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆใช้ครบแล้วรึยัง เพราะถ้าเราประหยัดภาษีได้จะทำให้รายจ่ายของเราน้อยลง
ก็เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ไม่สามารถทำได้เหมือนกันทุกคนเพราะขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของแต่ละคนค่ะ

เราจดไปสัก 3-4 เดือนก็จะเห็นภาพทุกอย่างชัดขึ้นว่าเงินในกระเป๋าของเราถูกอะไรขโมยไปบ้าง

พอจดบันทึกจนชินแล้วเราก็จะได้เปรียบเทียบได้ว่าปีนี้กับปีที่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง จะได้ภาพที่ชัดเจนค่ะ

หนี้สินที่ควรมีวิธีคำนวณตามนี้ค่ะ http://pajareep.blogspot.com/2012/05/blog-post_21.html

                                 

                                             "ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้นนะค่ะ" 


บทความน่าสนใจ

รู้อะไรไม่สู้ "รู้งี้" กับการวางแผนเกษียณ
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/06/blog-post.html

บทเรียนในความมืดกับการวางแผนการเงิน
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/02/blog-post_24.html

การเงินส่วนบุคคล ตอน การวิเคราะห์สภาพคล่องส่วนบุคคล
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/01/blog-post_11.html

คนล้มละลาย เศรษฐกิจก็ล้มละลาย
==> http://pajareep.blogspot.com/2012/10/blog-post.html











วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เงินออมจากภาษี(อัพเดทเรื่องการคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผล)

ภาษี !! 

แค่ได้ยินคำนี้ก็ถึงกับมึนกันเลย ฉันก็เป็นอีกคนนึงที่ไม่ค่อยชอบภาษีเอาซะเลย สาเหตุหลักคงมาจาก

ภาษาที่อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ แปลไทยเป็นไทยก็ยังอ่านแล้วงง แต่เพราะอยากเป็น

นักวางแผนการเงินก็ต้องพยายาเอาชนะมันให้ได้ ต้องใจเย็นๆเวลาอ่าน ท่องไว้ว่าพุทโธ..พุทโธ...

พอเข้ารับการอบรม CFP ชุดวิชาที่ 5 เรื่องการวางแผนภาษีและมรดก ก็ทำให้เข้าใจขึ้นบ้าง

พอเข้าใจแล้วก็สนุกดีแฮะ แค่เรารู้กฎหมายแล้วใช้สิทธิ์ประโยชน์ต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดก็ทำให้เงิน

ในกระเป๋าของเราเยอะขึ้น




ล่าสุด "ครม. อนุมัติให้หักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาช่วยประชาชนน้ำท่วมทั้งค่าซ่อมบ้าน

ได้ไม่เกิน1แสนซ่อมรถไม่เกิน3หมื่น"

โดยสาระสำคัญของร่างนี้ คือ

1. มาตรการให้หักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นค่าใช้จ่ายซ่อมแซม ค่าวัสดุอุปกรณ์ที่เป็น

อสังหาริมทรัพย์ ทั้งอาคารที่อยู่เขตอสังหาริมทรัพย์ ห้องชุด อาคารชุด และทรัพย์สิน ที่มีการประกอบ

ติดตั้งกับตัวอาคารที่เกิน 100,000 บาท โดยทรัพย์สินนั้นจะต้องได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก

อุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. – 31 ธ.ค. และอยู่ในท้องที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ประสบ

อุทกภัย โดยได้รับเงินไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนกรณีบุคคลที่ยกเว้นการใช้สิทธิในการเสียภาษี ในปี

2554 – 2555 ให้ได้รับสิทธิยกเว้นทั้ง 2 ปี ไม่ให้รวมกันเกิน 100,000 บาท

2. เรื่องหักภาษีซ่อมแซมรถยนต์ โดยกำหนดให้หักค่าภาษีในการยกเว้นภาษีเงินได้ จ่ายเป็นค่าซ่อม

แซมรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมแซมรถยนต์ ไม่เกิน 30,000บาท

โดยมีหลักเกณฑ์ในการสังเกตดังนี้ เกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. – 31 ธ.ค. ผู้ที่ได้รับความเสียหายจะ

ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิรถยนต์หรือผู้เช่า ซื้อที่ได้รับการซ่อมแซม อยู่ในท้องที่ที่ทางราชการประกาศ

ให้เป็นพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยและต้องอาศัย อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย หากถ้ามีรถยนต์เกินกว่า 1 คัน ให้

ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามจำนวนจ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท.


ที่มา: http://www.dailynews.co.th/businesss/6023


ถ้าเรามองข้ามสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะทำให้เราเสียประโยชน์ได้นะค่ะ การลดหย่อยหรือการหักค่าใช้จ่าย

ต่างๆจะมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกปี ต้องคอยติดตามทุกปี ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐว่าต้อง

การส่งเสริมทางด้านใด แม้บางคนคิดว่าอาจจะเป็นจำนวนไม่มาก แต่ก็สามารถทำให้เราแบ่งเบารายจ่าย

ได้บ้างนะค่ะ


การเครดิตภาษีเงินปันผล

ถ้านักลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และมีการจ่ายเงินปันผล นักลงทุนก็จะได้รับเงินนั้นไม่เต็มจำนวน

เพราะเงินนั้นได้ถูกจ่ายภาษี 2 ครั้ง คือ ภาษีนิติบุคคล กับภาษีหัก ณ ที่จ่าย มาแล้ว

ตัวอย่าง เราซื้อหุ้นบริษัท ABC ซึ่งมีกำไรสุทธิ 100 บาท โดยที่บริษัทเสียภาษีนิติบุคคล 30%

คือ 30 บาท เหลือเป็นเงินได้หลังจากเสียภาษีนิติบุคคล คือ 70 บาท แล้วมีการประกาศจ่ายเงินปันผล

นักลงทุนต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% จาก 70 บาท เหลือเป็นเงินปันผลถึงมือนักลงทุน 63 บาท

ซึ่งนักลงทุนจะเห็นตัวเลข 63 เท่านั้น โดยที่เราไม่รู้ฐานเงินจริงๆที่เราต้องเสียภาษีเท่าไหร่

และเสียภาษีไปแล้วเท่าไหร่

------------------------------------------------------------------------------------------------------

วิธีการคิดเครดิตภาษี

เครดิตภาษีเงินปันผล = เงินปันผล  x  ค่าคงที่แปลงเครดิตภาษีเงินปันผล*

ค่าคงที่แปลงเครดิตภาษีเงินปันผล* คือ อัตราภาษี/100-อัตราภาษี

เช่น ภาษีนิติบุคคล คือ 30% ตัวคูณก็จะเป็น 30/100-30 จะเป็นตัวเลข 3/7

ตัวอย่าง ถ้าได้ร้ับเงินปันผล 70,000 บาท ซึ่งบริษัทนั้นเสียภาษีนิติบุคคล 30% เครดิตภาษีเท่าไหร่

วิธีการคำนวณ

เครดิตภาษีเงินปันผล = 70,000 x 3/7
                                   = 30,000 บาท

เงินจำนวน 30,000 บาทเป็นเงินภาษีที่เราจ่ายไปแล้วตั้งแต่ขั้นตอนเสียภาษีนิติบุคคล ถ้าเราลอง

นำมารวมกับรายได้พึงประเมินแล้วอาจจะได้คืนก็ได้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------

กระบวนการเครดิตภาษีเงินปันผล

ตัวอย่าง นาย ก มีเงินได้จากเงินปันผลอย่างเดียวจำนวน 700,000 บาท และได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย

10% คือ 70,000 บาท

หมายเหตุ ; มีการหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาทเท่านั้น , ภาษีนิติบุคคล 30%


  1. นาย ก ได้เงินเครดิตภาษีเท่าไหร่
  2. นาย ก เสียภาษีเท่าไหร่
  3. นาย ก จะได้คืนภาษีหรือไม่
วิฺธีคิด

1. นาย ก ได้เงินเครดิตภาษีเท่าไหร่

นาย ก ได้เงินเครดิตภาษี = 700,000 x 3/7 

จะได้เงินภาษีที่จ่ายไปแล้ว คือ 300,000 บาท

2. นาย ก เสียภาษีเท่าไหร่

เนื่องจากว่าภาษีเงินปันผลจัดอยู่เงินได้ประเภท 40(4)  จึงต้องคำนวณภาษี 2 แบบ

  1. ยื่นแบบ ภงด. 90
จากข้อที่ 1 เงินภาษีที่นาย ก เสียไปแล้ว 300,000 บาท เมื่อนำมารวมกับเงินปันผล 700,000 บาท

ก็จะเป็นรานได้พึ่งประเมินที่แท้จริง 1,000,000 บาท ก็ใช้เงินจำนวนนี้แหละมายื่นแบบ ภงด 90

เมื่อเป็นเงินได้ 40(4) ก็ไม่มีหักค่าใช้จ่าย จากหมายเหตุบอกว่ามีแต่ค่าลดหย่อน 30,000 บาท

ดังนั้นเงินได้พึ่งประเมินสุทธิ คือ 1,000,000 - 30,000 = 970,000 บาท

ซึ่งจะเสียภาษีฐาน 20% คือ เสียภาษีทั้งสิ้น 129,000 บาท


      2. คำนวนวิธีที่ 2 คือ เงินได้พึงประเมิน x อัตราร้อยละ 5%

เงินเสียภาษีตามวิธีที่ 2 คือ 1,000,000 x 0.5% =5,000 บาท 

ผลลัพธ์ออกมาน้อยกว่าวิธีที่ 1 ดังนั้นจึงใช้ตัวเลขที่สูงกว่าคือ 129,000 บาท

*หมายเหตุ เงินได้ประเภท 40(2) - 40(8) ถ้ามีเงินไ้ด้พึงประเมินเกิน 60,000 บาทขึ้นไปต้อง
คำนวณวิธีที่ 2 ด้วย โดยจะใช้ตัวเลขที่มีการเสียภาษีสูงกว่ามาเสียภาษี

3. นาย ก จะได้คืนภาษีหรือไม่

จากคำตอบของข้อที่ 1 และข้อที่ 2 ก็จะบอกได้ว่าเงินปันผลของ นาย ก นั้นได้เสียภาษีนิติบุคคล

ของบริษัทที่นาย ก ไปลงทุนแล้ว 300,000 บาทและภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% คือ 70,000 บาท

สรุปว่านาย ก เสียภาษีไปแล้ว 370,000 บาท ซึ่งถ้านำเงินได้พึงประเมินที่แท้จริงมาคิดคือ

1,000,000 บาท นาย ก จะเสียภาษี 129,000 บาทเท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า นาย ก ได้เสียภาษี

มากเกินความเป็นจริง ดั้งนั้น นาย ก ได้เงินคืนจำนวน 370,000 - 129,000 = 241,000 บาท


ทั้งนี้เพื่อรองรับการเปิด AEC ก็มีการพิจารณาว่าอาจจะไม่ต้องเสียภาษีจากเงินปันผล 10%

แต่ก็ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการก่อนค่ะ

-------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องการลงทุน บางคนลงทุนในหุ้นได้รับเงินปันผลแล้วลืมเครดิตภาษีก็คิดว่าปล่อยมันไป

เพราะคิดว่าได้ไม่เท่าไหร่ ช้าก่อน...อย่าพึ่งคิดเช่นนั้น เราน่าจะลองสละเวลาเพียงเล็กน้อยนำมารวมกับ

รายได้ของเราและคำนวณภาษี ถ้าผลออกมาเสียภาษีเพิ่มก็ไม่ต้องยื่น แต่ในบางครั้งเอามารวมแล้วยัง

ได้ภาษีคืนก็มีนะค่ะ ถ้าใครลืมก็ยังสามารถนำมาคำนวณได้นะค่ะ ทางกรมสรรพากรเค้าให้ยื่นเพิ่มได้

ลองใช้วิธีนี้เป็นการเพิ่มเงินออมกันนะค่ะ


เรามาช่วยกันคิดวิธีการออมเงินกันเถอะค่ะ \\^_^//





วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เงินเก็บหายไป - _ -!!

เงินเก็บหายไปไหน.......

ฉันทำงานในบริษัทโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง ประสบการณ์ตรงนี้ทำให้ฉันได้เห็นคนในแง่มุมต่างๆ

ทั้งในส่วนของนักลงทุน และเพื่อนร่วมงาน บางคนทำงานได้เงินเยอะมาก แต่ทำไมเค้าถึงไม่มีเงินเก็บ

ถ้าเค้าทำงานได้เงินเยอะขนาดนี้ แสดงว่าช่วงบั่นปลายชีวิตต้องสบายแน่ๆเลย....ฉันคิดแบบนั้น

แต่ความคิดกับความจริงมันต่างกันอย่างสิ้นเิชิง ฉันลองมานั่งสังเกตว่ามันเกิดจากอะไร???


สิ่งแรกที่ฉันสังเกตเห็นคือ บัตรเครดิตหลายใบในกระเป๋าของเพื่อน ซึ่งฉันอาจจะเป็นคนประหลาด

ที่ไม่อยากทำบัตรเครดิต ฉันไม่ได้รวยที่ชอบใช้เงินสดหรอกนะ แค่อยากหาวิธีป้องกันตัวเองใช้เงิน

อย่างสำราญใจก็คือการจ่ายเงินสดเพราะเราจะได้รู้ว่าใช้ไปเท่าไหร่และเหลือให้ใช้อีกเท่าไหร่

ฉันก็ถามเพื่อนว่าบัตรเครดิตมีประโยชน์ยังไง เค้าบอกว่าซื้อของชิ้นนึงก็ผ่อน 0% ระยะเวลาก่อน

ที่จะจ่ายค่าสินค้าก็หลายวันสามารถเอาเงินไปลงทุน เช่น เล่นหุ้น ได้เงินแล้วก็เอาชำระสินค้าที่ผ่อน

แล้วฉันก็ถามว่าที่เพื่อนผ่อนอยู่ปัจจุบันนี้ได้ใช้วิธีการเอาเงินไปลงทุนแบบนั้นรึเปล่า

มันก็ตอนว่า "ไม่ได้ทำ" -_-!!

สรุปว่าเมื่อปีที่แล้วมันใช้บัตรเครดิต 3 ใบ ปัจจุบันเหลือแค่ 1 ใบ

แล้วที่รู้มาดอกเบี้ย 0% มีจริงด้วยหรอ ถ้าคิดในแง่การตลาดนั้นพูดได้ แต่ถ้าคำนวณทางการเงินดีๆ

ดอกเบี้ย 0% ไม่ีมีจริง!!

บัตรเครดิตก็เหมือนมีด ถ้าเอามาทำอาหารก็เป็นประโยชน์ 

แต่ถ้าไปอยู่ในมือของคนเมายาบ้า มันก็คือ อาวุธ นั่นเอง


เพื่อนคนนี้สอนให้ฉันรู้ถึงเงินเก็บที่หายไปอีกเรื่องนึง คือ ซื้อไอแพด

เช้าวันนึงเพื่อนเอาไอแพดมาโชว์ ฉันก็เลยถามว่าที่บ้านคอมพังหรอถึงซื้อไอแพด

เพื่อนก็บอกว่า "ไม่ไ้ด้พังหรอกแค่อยากได้ไอแพดมาเล่นเกมส์เฉยๆ ภาพมันสวยดี " จบข่าว....

เพื่อนเล่าต่อด้วยว่าจะซื้อไอโฟนด้วย(ทั้งที่มีblackberryอยู่บนโต๊ะ)

มันสอนเราเรื่อง "ความฟุ่มเฟือย" ได้จริงๆ

ไม่เข้าใจว่ามีแค่ 2 มือ 24 ชั่วโมงจะเอาเวลาไหนไปเล่นให้ครบทุกอย่าง

ฉันจำได้ว่าเจอเพื่อนคนนี้ครั้งสุดท้ายเหลือแต่ไอโฟนอยู่เครื่องเดียว


การที่เราจะมีเงินเก็บมันไม่ยากเลย แค่เราหยุดกิเลสในความอยากของเราให้ได้

" มันไม่จำเป็นว่าคุณทำงานได้เงินเดือนมากมาย แล้วคุณจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

ถ้าคุณเก็บเงินไม่เป็นมันก็จบไม่สวยเหมือนกัน"

เริ่มเก็บเงินง่ายๆโดยการผูกบัญชีเงินเดือนกับเงินฝากประจำหรือโปรแกรมการออมอะไรสักอย่างก็ได้

เงินเดือนออกปุ๊บตัดเงินไปออมปั๊บ แค่ 10% ของเงินเดือนเท่านั้นไม่มากเลยค่ะ

การเริ่มต้นอาจจะยากเพราะคิดว่าเราทำไม่ได้ ลองเริ่มต้นด้วย 5% ก่อนก็ได้ค่ะ ถ้าเราใจเด็ดมากขึ้น

ค่อยมาเป็น 10% ค่ะ


"มาแลกเปลี่ยวิธีการออมเงินกันนะค่ะ"